วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

ทฤษฎีของ Maslow ทฤษฎีความต้องการ

ทฤษฏีลำดับขั้นความต้องการ  Maslow

Maslow เรียงลำดับความต้องการของมนุษย์จากขั้นต้นไปสู่ความต้องการขั้นต่อไปไว้เป็นลำดับดังนี้
  • ความต้องการทางด้านร่างกาย ( Physiological needs )
  • ความต้องการความปลอดภัย ( Safety needs )
  • ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ ( Belongingness and love needs )
  • ความต้องการได้รับความนับถือยกย่อง ( Esteem needs )
  • ความต้องการที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง ( Self-actualization needs )
1.ความต้องการพื้นฐานทางสรีระ (Basic physiological needs or Biological Needs, Physical Needs) ความต้องการทางด้านร่างกาย (Physiological Needs) ความต้องการในขั้นนี้ เป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน (Basic Needs) ที่มีอำนาจมากที่สุด และเห็นได้ชัดที่สุด กว่าความต้องการทั้งหมด เป็นความต้องการที่จำเป็น ต่อการดำรงชีวิต ได้แก่ ความต้องการด้านปัจจัย 4 บำบัดความหิวกระหาย การพักผ่อนนอนหลับ ความต้องการทางเพศ ตลอดจนความต้องการ ที่จะถูกกระตุ้นอวัยวะรับสัมผัส แรงขับของร่างกายเหล่านี้ จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับความอยู่รอดของร่างกาย และอินทรีย์หากความต้องการในขั้นนี้ ได้รับการตอบสนองแล้ว จะกระตุ้นให้เกิดความต้องการ ในขั้นที่สูงกว่า แต่ถ้าบุคคลประสบความล้มเหลว ในการสนองความต้องการขั้นพื้นฐานนี้แล้ว ก็จะไม่ได้รับการกระตุ้น ให้เกิดความต้องการในระดับที่สูงขึ้นต่อไป




2. ความต้องการความปลอดภัย (Safety Needs and security) ความต้องการในขั้นนี้ สังเกตได้ง่ายในทารกและเด็กเล็ก เพราะวัยนี้เป็นวัยที่ต้องการการช่วยเหลือ และต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นในวัยผู้ใหญ่ ความต้องการขั้นนี้ จะยังมีอิทธิพลต่อบุคคล โดยเฉพาะคนที่ทำงานในฐานะเป็นผู้คุ้มครอง หรืองานที่เกี่ยวกับความปลอดภัย ความต้องการความปลอดภัย จะเกี่ยวข้องกับการเผชิญสิ่งต่างๆ เช่น สงคราม อาชญากรรม ภัยธรรมชาติ ความสับสน ไม่เป็นระเบียบของสังคม เป็นต้น ในขั้นนี้ศาสนาและปรัชญาที่มนุษย์ยึดถือ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคง เพราะทำให้บุคคลได้จัดระบบของตัวเอง ให้มีเหตุผลและวิถีทางที่ ทำให้ตนเองรู้สึกปลอดภัย

3.ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ (Love and Belonging Needs or Social Needs) ความต้องการขั้นนี้ จะเกิดขึ้นเมื่อความต้องการด้านร่างกาย และความปลอดภัย ได้รับการตอบสนองแล้ว มนุษย์ต้องการความรัก และความเป็นเจ้าของ โดยการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น ความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัว หรือกลุ่มสังคม และจะรู้สึกเจ็บปวดมาก เมื่อถูกทอดทิ้ง หรือไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม หรือแม้แต่กรณีที่จำนวนเพื่อน หรือสมาชิกในบ้านลดน้อยลงไป ผู้ที่ไปอยู่ในสังคมใหม่ จะเกิดความต้องการเป็นเจ้าของ และจะแสวงหาการยอมรับจากสังคมใหม่อย่างยิ่ง การขาดสิ่งนี้ทำให้มนุษย์เกิดความคับข้องใจ และเกิดปัญหาปรับตัวไม่ได้ ส่งผลเป็นความผิดปกติในพฤติกรรม หรือความเจ็บป่วยทางจิตใจ
4. ความต้องการเกียรติยศชื่อเสียง (Esteem Needs, Self-Esteem Needs) คือ เมื่อบุคคลได้รับการตอบสนองด้านความรัก และความเป็นเจ้าของแล้ว จะส่งผลให้เกิดความต้องการในขั้นนี้เกิดขึ้น ความต้องการในขั้นนี้แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ

1) ความต้องการนับถือตนเอง (Self-respect) คือ ความต้องการมีอำนาจ มีความเชื่อมั่นในตัวเอง มีความสามารถและความสำเร็จ ไม่ต้องพี่งพาอาศัยผู้อื่นและมีความอิสระ
2) ความต้องการได้รับการยกย่องนับถือจากผู้อื่น (esteem from others) คือ ความต้องการเกียรติยศชื่อเสียง ได้รับความสนใจการยอมรับ และยกย่อง มีสถานภาพทางสังคมและเป็นที่ชื่นชมยินดี ทำให้ตนเองรู้สึกมีคุณค่า


5. ความต้องการความสมหวังในชีวิต (Self-Actualization Needs, Self-realization , Self-fulfillment Needs) หมายถึง ความปรารถนาในสิ่งท้าทายทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งบุคคลจะได้รับโดยใช้ความสามารถ และศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ และอย่างเหมาะสม หากความต้องการในขั้นต้น ได้รับการตอบสนองมาโดยลำดับ ทำให้เกิดความพึงพอใจอย่างบริบูรณ์ ความต้องการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงในระดับนี้ก็จะเกิดขึ้น บุคคลที่ประสบความสำเร็จ ในขั้นสูงสุดนี้จะใช้พลังอย่างเต็มที่ ในสิ่งที่ท้าทายความสามารถ และศักยภาพของตน มีความกระตือรือร้นที่จะปรับปรุงตนเองเสมอ พลังแรงขับของเขาจะผลักดันให้เขาแสดงพฤติกรรม ที่ตรงกับความสามารถของตนออกมา




ที่มา : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=wbj&month=07-12-2007&group=29&gblog=3


                รังสรรค์  ประเสริฐศรี. 2548. “การจูงใจและการเสริมแรงพฤติกรรมองค์การ. (พิมพ์ครั้งที่ 1)
                กรุงเทพมหานคร : บริษัท ธรรมสาร จำกัด.
                สุวัฒน์ วัฒนวงศ์.2547.”ประเภทของแรงจูงใจจิตวิทยาเพื่อการฝึกอบรมผู้ใหญ่.(พิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับปรับปรุง).กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
              ปรียาพร   วงศ์อนุตรโรจน์. 2535. “ การจูงใจ”  จิตวิทยาการบริหารบุคคล.(พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพมหานคร: ศูนย์สื่อเสริมกรุงเทพฯ.


1 ความคิดเห็น:

  1. กว่าจะเข้า blog ได้ ใช้เวลานิดหน่อย
    บล็อกดูดีแล้วนี่ เพิ่มเพื่อนร่วมรุ่นเข้าไปอีกหน่อย ก็น่าจะสมบูรณ์แล้ว
    รายงานความก้าวหน้าให้อาจารย์หรือยัง

    ตอบลบ